skip to Main Content
032-706906 info@wfft.org

สัตว์ป่าของกลาง…สัตว์ป่าที่ถูกลืม

Translation from Bangkok Post 20-January-2012


สัตว์ป่าของกลางจำนวนมากที่ถูกยึดมาจากผู้หาคดีลักลอบค้าสัตว์ และสวนสัตว์เอกชน ต้องอาศัยอยู่ในกรงแคบๆ และแออัดในความดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นปีๆจนกว่าคดีจะสิ้นสุด

“การตายของช้างที่ถูกยึดมาจากปางช้างในจ.กาญจนบุรี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นข้อกังขาในการดูแลคุ้มครองสัตว์ป่ของจนท.รัฐ” ช้างพังเชือกนี้ ถูกยึดมาพร้อมกับช้างอีก 18 เชือก หลังจากที่เจ้าของไม่สามารถนำตั๋วรูปพรรณมายืนยันได้ และถูกส่งไปอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้าง ในจ.ลำปาง ในระหว่างรอการพิจารณาคดี

Seized wildlife story

เจ้าหน้าที่กล่าวว่าช้างเชือกนี้ป่วยด้วยอาการติดเชื้อและมีสุขภาพอ่อนแออยู่แล้วเมื่อถูกส่งมาที่ศูนย์ แต่เจ้าของยืนยันว่าช้างของตนแข็งแรงดีก่อนที่จะถูกยึด แต่หลังจากนั้นสุขภาพของช้างก็แย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากการเปลี่ยนที่อยู่กะทันหัน

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 จนถึงเดือนกันยายน 2555 สัตว์ป่ากว่า 16,000 ตัวถูกยึด จากคดีทั้งหมด 704 คดี ซึ่งมีทั้งผู้ลักลอบค้าและครอบครองโดยผิดกม. เป็นเสือจำนวน 5 ตัว ช้าง 60 ตัว งู 3,000 ตัว ลิง 100 ตัว สัตว์น้ำและสัตว์เลื้อยคลาน 719 ตัว ตัวนิ่ม 478 ตัว เต่า 660 ตัว กิ้งก่า 1,400 ตัว และนกชนิดต่างๆอีกเกือบ 10,000 ตัว

นายธีรพัฒน์ ประยูรสิทธิ์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า สัตว์ป่าที่ถูกยึดมาโดยทั่วไปแล้ว ก็จะถูกส่งไปอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าหนึ่งใน 5 แห่ง ณ ปัจจุบันนี้ กรมมีภาระในการเลี้ยงดูเสือ 95 ตัว หมีราว 400 ตัว ซึ่งมีทั้งหมีหมาและหมีควาย ลิงและชะนีเป็นพันๆตัว กับเต่า งู และนกอีกจำนวนมาก

รองธีรพัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 2555 นี้กรมอุทยานได้รับอนุมัติงบประมาณ 20 ล้านบาทสำหรับเป็นค่าอาหาร ยาและเวชภันฑ์อื่นๆ รวมทั้งที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์ป่าของกลาง งบประมาณในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งได้มาเพียง 10 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ได้มานี้คำนวนจากความต้องการของสัตว์ป่าที่มีอยู่ในศูนย์แล้วเท่านั้น ไม่ได้คำนวนเผื่อสัตว์ป่าของกลางที่จะถูกยึดมาในอนาคต

ตามรายงานของสำนักอนุรักษ์ ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนสำหรับการดูแลช้าง ตกอยู่ที่ราว 22,000 บาทต่อตัว เสือ 8,800 บาทต่อตัว หมี 1,200 บาทต่อตัว สัตว์จำพวกลิงและชะนี 600 บาทต่อตัว ในขณะที่นกต่างๆค่าดูแลอยู่ที่ประมาณ 150-200 บาท ต่อตัวต่อเดือน

ช้างของกลางที่ถูกยึดมาส่วนใหญ่อยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ภายใต้การดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่ศูนย์แห่งนี้ยังเป็นที่อยู่ของช้างเชือกอื่นๆอีก 125 ตัว ซึ่ง 31 ตัวจาก 125 ตัวนี้ เป็นช้างของกลางในคดีที่กำลังทำการพิจารณา ส่วนที่เหลือเป็นช้างที่ถูกตัดสินแล้วให้ตกเป็นสมบัติของรัฐ และถูกฝึกให้เป็นช้างโชว์ในการแสดงช้างของศูนย์ ส่วนช้างที่อายุมากกว่า 30 ปีและช้างพิการ จะอาศัยอยู่ที่ป่าบ้านปางลา ซึ่งอยู่ในจ.ลำปางเช่นกัน

นอกเหนือจากศูนย์ดูแลสัตว์ป่าของกลางที่ดำเนินการโดยจนท.รัฐแล้ว ยังมีศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ดำเนินการโดยเอกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลอีกด้วย และกรมอุทยานฯได้เริ่มเปิด “โครงการพ่อแม่อุปถัมป์สัตว์ป่า” เพื่อขอรับบริจาคจากประชาชน เพื่อนำไปดูแลสัตว์ป่า โดยที่ผ่านมาได้รับเงินบริจาคประมาณ 3.3 ล้านบาท

” ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ป่าต้องแบกภาระหนักเกินรับไหว ”
สัตว์ป่าที่ถูกยึดมาจากผู้ลักลอบค้าและสวนสัตว์เอกชนต่างๆ ถือเป็นของกลางที่ต้องใช้ในการพิจารณาคดี ที่ต้องใช้เวลานานเป็นปีๆกว่าจะสิ้นสุด ในคดีส่วนใหญ่ สัตว์ป่าจะถูกศาลตัดสินให้ตกเป็นสมบัติของรัฐ ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯหรือกรมประมง ในกรณีที่ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ สัตว์ป่าที่ถูกยึดมาจะตกอยู่ในความคุ้มครองของรัฐเป็นเวลา 5 ปี ก่อนท่จะได้รับการตัดสินว่าจะทำอย่างไรต่อไป ส่วนสัตว์ป่าของกลางที่เป็นสัตว์ป่าสงวน จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานฯไปอย่างไม่มีกำหนด

รองธีรพัฒน์ยอมรับว่า สัตว์ป่าของกลางที่ยึดมาได้จำนวนมากในหลายปีนี้ กลายเป็นภาระที่เกินกำลังของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ดูแลสัตว์ ท่านรองกล่าวว่าในบางครั้งก็ทำให้สัตว์ต้องอยู่อย่างแออัด และมีคนดูแลไม่เพียงพอ แต่ในเมื่อมาตรการปราบปรามต้องดำเนินต่อไป กรมอุทยานฯก็จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการให้ที่อยู่อาศัย อาหาร และการดูแลสุขภาพแก่สัตว์ป่าเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ท่านรองธีพัฒน์ยังคงปกป้องระบบการดูแลสัตว์ป่าของรัฐ และกล่าวว่ากำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงพัฒนา และเมื่อเป็นไปได้ สัตว์ป่าจะได้อยู่อย่างอิสระโดยไม่ต้องถูกขังอยู่ในกรง ท่านรองได้อธิบายระบบการทำงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้ง 5 แห่งของกรมอุทยานฯโดยคร่าวๆว่า เสือที่ถูกยึดมาทั้งหมด จะถูกส่งไปที่สถานีเลี้ยงสัตว์เขาประทับช้าง และเขาสนในจ.ราชบุรี ท่านรองธีรพัฒน์กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ที่สถานีเขาประทับช้างมีความชำนาญเป็นพิเศษในการเพาะเลี้ยงและดูแลเสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสือโคร่งเบงกอล แต่ด้วยความที่มีพื้นที่จำกัด ทำให้เสือแต่ละตัวจะต้องอยู่แยกกันในกรงของตัวเอง

ที่สถานีเขาประทับช้าง ยังมีสวนสัตว์เล็กๆเปิดให้คนเข้าชมอีกด้วย เป็นสัตว์ขนาดเล็กเช่นนก และเก้งกวาง เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์คนหนึ่งกล่าวว่าสวนสัตว์แห่งนี้ไม่ได้มีการเก็บค่าเข้าแต่อย่างใด แต่ก็มีการตั้งกล่องรับบริจาค

ที่สถานีเขาสน ซึ่งใหญ่กว่า และอยู่ห่างออกไปประมาณ 30 กม. เสือจะได้อยู่ในที่อยู่อาศัยแบบเปิดโล่ง สถานีเขาสนเคยเผชิญกับปัญหาฝืดเคืองทางการเงินอย่างหนักมาก่อนในปีที่ผ่านมา แต่ทางจังหวัดได้ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเป็นการชั่วคราว หลังจากเกิดอุบัติเหตุเจ้าหน้าที่ถูกเสือหิวหลุดออกมาทำร้ายบาดเจ็บสาหัส

ท่านรองธีรพัฒน์เล่าว่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระบกคู่ ที่จ.ฉะเชิงเทรา ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูลิงกว่า 500 ตัว ในขณะที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จ.ชลบุรี รับภาระในการดูแลหมีราว 100 ตัว พื้นที่ส่วนหนึ่งของศูนย์มีการจัดให้หมีควายประมาณ 30 ตัวได้อยู่ร่วมกันในที่อยู่อาศัยแบบเปิดโล่งและมีต้นไม้ และยังมีการเลี้ยงผึ้ง เพื่อจัดหาน้ำผึ้งมาเป็นอาหารให้พวกหมีด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน หมีควายตัวอื่นๆ รวมทั้งหมีหมาด้วย ก็ยังต้องอาศัยอยู่ในกรง เพราะจนท.กล่าวว่าการสร้างที่อยู่อาศัยขนาดแบบเปิดใหญ่สำหรับหมีทั้งหมด โดยติดรั้วไฟฟ้ารอบๆนั้นจะมีราคาแพงมาก

สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากองค์กรเอกชน และบุคคลทั่วไป ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์ ส่วนมากจะรู้สึกประทับใจกับสภาพแวดล้อมและสิ่งก่อสร้างต่างๆในศูนย์ แต่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางพระ ซึ่งอยู่ในจ.ชลบุรีเช่นเดียวกัน กลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้ที่เข้าชมและได้เห็นสภาพของนกและเต่าของกลาง ต่างกล่าวเป็นเสียงด้วยกันว่าศูนย์นี้ควรได้รับการพัฒนา และควรมีผู้ให้การสนับสนุนมากกว่านี้ ความแตกต่างของสถานีทั้งสอง ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนมากมักจะมีความสงสารสัตว์ใหญ่และใกล้สูญพันธุ์มากกว่า

ทางออกอื่นๆ?
ท่านรองธีรพัฒน์กล่าวว่า ตามกฎกระทรวงแล้ว สัตว์ป่าของกลางจะให้อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานฯ หรือปล่อยคืนสู่ป่าก็ได้ สำหรับสัตว์ป่าที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองหรือค้าขายได้อย่างถูกกฎหมาย ก็อาจจะขายต่อให้กับผู้เพาะเลี้ยงเอกชน แต่ในความเป็นตืงแล้ว ท่านรองกล่าวว่า ทางกรมมีนโยบายที่รู้กันเป็นนัยๆว่า จะไม่มีการขายสัตว์ป่า “แน่นอนว่า พวกสัตว์หายากจะต้องเก็บไว้เพื่อปล่อยคืนสู่ป่าต่อไป”

“ในสภาวะที่สัตว์ล้นเกินขึ้นเรื่อยๆนี้ มีข้อเสนอแนะบางประการที่ได้รับการหยิบยกมาพูดถึง เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าของกลาง และลดภาระหน้าที่ของกรมอุทยาน
ทางเลือกหนึ่งก็คือ “การอายัดสัตว์” ซึ่งหมายถึงว่า อายัดไว้โดยให้สัตว์ป่าอยู่ที่เดิมก่อนที่จะถูกจับ โดยที่มีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสม”

เจ้าของปางช้างรายหนึ่งเคยพยายามโต้แย้งไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายช้าง โดยขออนุญาตให้ช้างอยู่ที่เดิมได้ โดยที่ปางช้างจะไม่ขนย้ายช้างไปที่อื่นในระหว่างการพิจารณาคดีว่ามีความผิดจริงหรือไม่ เจ้าของรายนั้นกล่าวว่า แค่เพียงเจ้าหน้าที่คอยสอดส่องอย่างดี ก็จะแน่ใจได้ว่า “ของกลาง” จะไม่ถูกทำลายหรือเคลื่อนย้ายแน่ๆ อีกอย่างช้างก็จะสบายใจกว่ามากถ้าได้อยู่กับควาญประจำตัวของมันเอง

แต่ถึงอย่างนั้นทางเลือกนี้ก็ไม่มีทางจะถูกหยิบมาพิจารณา “แบบนี้มันรับไม่ได้ พวกนี้ได้สัตว์ป่ามาแบบผิดกฏหมาย ไม่ควรจะอนุญาตให้เก็บสัตว์ไว้หาผลประโยชน์ต่อไปอีก” รองธีรพัฒน์กล่าว

ข้อเสนอที่น่าจะนำมาใคร่ครวญมากกว่า คือการให้ศูนยช่วยเหลือสัตว์ป่าของเอกชนที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีส่วนเข้ามาช่วยเหลือสัตว์ป่าของกลางได้ โดยระบุจำนวนและชนิดสัตว์ให้แน่นอน และอาจมีการสนับสนุนจากรัฐบาลบ้างในบางส่วน

นางสาวจันทร์แสง สร้างนานอก ประธานมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าประเทศไทย กล่าวว่า ทางออกนี้จะสามารถช่วยได้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและสัตว์ป่าในเวลาเดียวกัน

ศูนย์ช่วยเหลือเอกชนอาจอาสาเข้ามามีส่วนช่วยดูแลสัตว์ป่าของกลางในระหว่างการพิจารณาคดีได้ แต่ถึงอย่างไรการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ก็ควรจะดำเนินต่อไปให้เกิดผลอย่างต่อเนื่อง

ผู้พิพากษาศาลฎีกา ศศิรัตน์ ปราณีจิตต์ ก็ได้ให้ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการสัตว์ป่าของกลางในระหว่างดำเนินคดีเช่นกัน ท่านผู้พิพากษากล่าวว่า กรมอุทยานฯควรจะยื่นขอต่อศาลให้อนุญาตให้ปล่อยสัตว์คืนป่าได้ รวมทั้งขอให้มีการการุณยฆาตสัตว์ที่ป่วยหนักได้ โดยทางกรมจะต้องมีการทำเอกสารระบุรายละเอียดสัตว์ตัวดังกล่าว ไว้สำหรับเป็นหลักฐานในการพิจารณาดคดีก่อนกระทำการ

ผู้พิพากษาศศิรัตน์ยังแนะอีกว่า กรมอุทยานควรจะได้รับอนุญาตให้เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำผิด ให้จ่ายเงินเป็นค่าดูแลสัตว์ป่าของกลาง และที่สำคัญที่สุด คือควรจะเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ต้องหาคดีลักลอบค้าสัตว์ป่าให้ถึงที่สุด เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างให้กับผู้กระทำผิดอื่นๆในคดีเดียวกัน และช่วยลดโอกาสที่สัตว์ป่าจะต้องมาทนทุกข์ทรมานอยู่ในกรงแคบๆ ทั้งชีวิต

ร่วมมือกับเรา

มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าต้องการความช่วยเหลือจากคุณ เผยแพร่เรื่องราวและภารกิจปกป้องสัตว์ป่าของเราออกสู่ภายนอก
หากคุณอยากช่วยเหลือสามารถเยี่ยมชมและมามีส่วนร่วมกันกับเราได้

Wildlife Friends Foundation Thailand

Back To Top