skip to Main Content
032-706906 info@wfft.org

“กาญจนา” ช้างป่าที่ถูกล่าออกมาจากบ้านของมัน

 

“กาญจนา”

นี่คือเรื่องราวของ “กาญจนา” ช้างป่าที่ถูกล่าออกมาจากบ้านของมัน ถูกกักขังและทรมานในขั้นตอนการสร้างความบันเทิงให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย…ช้างที่ต้องตายทั้งที่ยังโดนกักขัง พร้อมกับลูกน้อยที่เป็นผลผลิตจากป่า แต่กลับจบชีวิตพร้อมโซ่ล่ามในเมือง

“กาญจนา” เกิดในช่วงปี 2534 ในป่ารอยต่อระหว่างจ.กาญจนบุรีและพม่า…โดยปกติแล้วเราจะไม่ตั้งชื่อให้กับช้างป่า แต่เนื่องจากชีวิตของมันได้รับผลกระทบจากน้ำมือมนุษย์มากเหลือเกิน เราจึงตัดสินใจจะเรียกมันว่า กาญจนา ตามชื่อจังหวัดบ้านเกิดของมัน

ว่ากันตามจริงแล้ว เราคงจะไม่มีโอกาสได้รู้เรื่องราวหรือชะตากรรมของกาญจนาเลย ถ้าหากว่าพ่อค้าช้างคนหนึ่งจากหมู่บ้านช้าง จ.สุรินทร์ จะไม่เอ่ยปากชักชวนสายข่าวของWFFT ให้ร่วมเดินทางไปดูช้างป่าที่ชายแดนเพื่อซื้อช้างเข้าปาง เรื่องราวการจับกาญจนา การทำพิธีตัดจิตวิญญาณป่า และการต่อสู้ของเราเพื่อผลักดันให้มันถูกยึดจากพ่อค้าและส่งกลับคืนสู่ป่า ได้เริ่มขึ้นอย่างเลวร้าย และก็จบลงในทางที่เราไม่เคยคาดฝันมาก่อน

Damage to the neck from capture
Damage to the neck from capture

เรื่องของกาญจนาเริ่มขึ้นในวันที่ 6 ธันวาคม 2551 เมื่อเอ็ดวิน วีค ผู้ก่อตั้งมูลนิธิของเราได้ข่าวมาว่า มีกลุ่มนายทุนเจ้าของช้างกลุ่มหนึ่ง กำลังเดินทางจากสุรินทร์ไปยังกาญจนบุรีเพื่อไปดู “ช้างใหม่ๆ” ที่ขายอยู่ที่อ.ไทรโยคและสังขละบุรี ที่จริงแล้วนี่ก็ไม่ใช่น่าเรื่องตื่นเต้นมากนัก แต่ในกรณีนี้ เราพบว่าคนบางคนในกลุ่มเคยมีเอี่ยวในการลักลอบล่าและค้าช้าง ทั้งยังมีความสัมพันธ์เหนียวแน่นกับปางช้างใหญ่ๆที่มีอิทธิพลในกาญจนบุรี อยุธยา และหัวหินอีกด้วย สายข่าวคนหนึ่งที่ร่วมมือกับเรามานาน จึงได้ร่วมเดินทางไปกับกลุ่มนี้หลังจากที่ได้รับคำชวนจากตัว “นายทุน” หรือคนที่คอยจ่ายเงินซื้อช้างจากพราน หรือพวกผู้ลักลอบค้า แล้วนำมาขายต่อโดยฟันกำไรหลายเท่าตัว

วันที่ 8 ธันวาคม กลุ่มนายทุนเดินทางไปถึงสังขละบุรีใกล้กับชายแดนพม่า และได้พบกับกลุ่มชาวบ้านทั้งไทยและกะเหรี่ยง เพื่อดูช้างที่พึ่งได้มาใหม่ อันประกอบไปด้วยลูกช้าง 3 ตัว และช้างโตตัวเมียตัวหนึ่ง ทั้งหมดถูกจับมาได้ในช่วงอาทิตย์เดียวกัน (ดูภาพกาญจนาที่ถูกจับมาได้ด้านบน) พวกลูกช้างขายออกไปอย่างง่ายดาย เนื่องจากลูกช้างเป็นที่ต้องการอยู่เสมอในธุรกิจปางช้าง ด้วยความที่ง่ายต่อการนำไปฝึกแสดงโชว์ต่างๆ สำหรับกาญจนาแล้ว ยังไม่มีใครสนใจซื้อในทันที เพราะตัวมันมีแต่รอยบาดแผลที่ได้มาเมื่อตอนถูกจับ ซ้ำยังขาหลังหักไปข้างหนึ่งอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ตามคำบอกกล่าวของพราน มันก็กำลังตั้งท้อง ในระยะยาวแล้วถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน หากว่ามันคลอดลูกออกมาเป็นตัวเมีย ก็จะขายได้เป็นเงินไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาททีเดียว นาย ส. พ่อค้าช้างจากหมู่บ้านช้าง จ.สุรินทร์ จึงตัดสินใจซื้อกาญจนา และจ่ายเงินมัดจำไปจำนวน 100,000 บาท

Wounds to the head of Kanchana
Wounds to the head of Kanchana

นาย ส. ยังต้องจ่ายเงินอีก 100,000 บาท จึงเดินทางกลับสุรินทร์เพื่อไปหาเงินมาจ่ายให้ครบ และในเวลาเดียวกัน ก็แวะไปที่ว่าการอำเภอเมืองกาญจนบุรี เพื่อขอตั๋วรูปพรรณให้กับกาญจนาด้วย นี่เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา เพราะช้างที่อายุเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป จะไม่สามารถขึ้นทะเบียนขอตั๋วรูปพรรณซึ่งออกให้สำหรับช้างบ้านเท่านั้นได้ (กาญจนานั้นคาดว่าน่าจะอายุราวๆ 19-20 ปี) WFFT พยายามจะเข้าถึงตัวกาญจนาให้ได้ แต่หลังจากที่กลุ่มนายทุนเข้าไปดูแล้ว มันก็ถูกย้ายไปยังที่ซ่อนลับเพื่อไป “ฝึก” เพื่อที่จะส่งไปปางช้างที่หัวหินต่อไป เมื่อได้ตั๋วรูปพรรณ สายข่าวของเราให้ข่าวมาว่า กาญจนาถูกเก็บอยู่ที่ไหนสักแห่งในอ.ไทรโยค และไม่ยอมกินอาหาร เพราะกำลังป่วยหนักด้วยอาการติดเชื้อจากบาดแผล

ราวๆ 2 สัปดาห์หลังจากนั้น เราจึงได้รับข้อมูลว่ากาญจนาอยู่ที่ไหน ก่อนวันคริสต์มาส เราได้ข่าวว่ากาญจนากำลังจะถูกส่งตัวไปที่ปางช้างแห่งหนึ่งในหัวหิน (ซึ่งเป็นปางที่พึ่งจะถูกยึดลูกช้างป่าผิดกฎหมายไปหยกๆ ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น) ถึงแม้ว่ามันจะยังมีสภาพร่างกายที่แย่มากก็ตาม และเรายังได้ข่าวมาอีกว่า ตอนนี้ทางอำเภอออกตั๋วรูปพรรณให้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เราแทบไม่อยากจะเชื่อ ในเมื่อกาญจนาอายุมากเกินจะขึ้นทะเบียน และยังไม่มีเอกสารหรือหลักฐานอะไรมาแสดงเลยว่าเหตุใดจึงควรจะมีข้อยกเว้นในความล่าช้านี้

A severe broken leg from capture from the wild
A severe broken leg from capture from the wild

เอ็ดวินเข้าพบกับโรเจอร์ โลหนันท์ จากสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ผู้นำ NGO ด้านสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทย และชวนให้มาเข้าร่วมการสืบหาความจริงเรื่องตั๋วรูปพรรณของกาญจนา…ซึ่งเราได้พิจารณาแล้วว่าเป็นการ “จับช้างป่ามาสวมเป็นช้างบ้าน” ในการเดินทางไปสืบข่าวครั้งนี้ เราพบว่า ทางอำเภอได้ออกตั๋วรูปพรรณให้กาญจนาเป็นที่แน่นอนแล้ว เอ็ดวินและโรเจอร์จึงเดินทางไปขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดในทันที เพื่อขอให้ท่านผู้ว่าสืบสวนเรื่องนี้และสั่งระงับตั๋วรูปพรรณ ท่านผู้ว่าประหลาดใจมากและให้สัญญาว่าจะทำการสืบสวนต่อไป

ในวันเดียวกันนั้นเอง ระหว่างการขนส่ง กาญจนาถูกทหารเรียกตัวไว้ที่ด่านตรวจ สัตวแพทย์จากปศุสัตว์ได้ทำการตรวจสุขภาพกาญจนา และสั่งกักบริเวณไว้ก่อนไม่ให้ขนย้ายจนกว่าจะแข็งแรงขึ้นกว่านี้ อีก 2 วันต่อมา ท่านผู้ว่าจ.กาญจนบุรีได้โทรมานัดประชุมและแจ้งข่าวว่า ท่านสืบทราบแล้วว่าขั้นตอนทั้งหมดนั้นทำอย่างผิดกฎหมาย และจะสั่งให้ยกเลิกตั๋วรูปพรรณเสีย แต่เรายังมีปัญหาอีก 1 ข้อคือ ขั้นตอนการยกเลิกตั๋วรูปพรรณนั้นไม่สามารถจะทำได้ในเร็ววัน กาญจนาจะต้องถูกกักบริเวณฟื้นฟูสุขภาพให้นานขึ้นกว่านี้เพื่อประวิงเวลาไว้

ด้วยเหตุนี้ เราจึงส่งจดหมายร้องเรียนไปยังกรมอุทยานฯ แต่ตอนนั้นก็เป็นช่วงสิ้นปีแล้ว หน่วยงานราชการทุกแห่งกำลังจะหยุดปีใหม่ เอ็ดวินและน้อยจึงรวบรวมหลักฐานทั้งหมดส่งเป็นจดหมายด่วนไปถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ เพื่อขอให้ท่านทำการยึดตัวกาญจนาไว้ อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว ก่อนที่มันจะถูกย้ายหายเข้ากลีบเมฆไป และแล้ววันที่ 30 ธันวาคม เราก็ได้รับข่าวจากสำนักงานอธิบดีกรมอุทยานฯว่า ท่านได้สั่งให้มีการสืบสวนและยึดกาญจนาไว้อย่างเร่งด่วน แต่ด้วยระบบราชการที่เต็มไปด้วยขั้นตอน ก็ทำให้ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน กว่าที่ตั๋วรูปพรรณจะถูกยกเลิก ในวันที่ 26 มีนาคมปีถัดมา

หลังจากนั้น WFFT ได้พยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้กาญจนาได้ย้ายออกมาจากคลีนิกสัตว์มหิดลในอ.ไทรโยค ซึ่งมันอยู่มาตั้งแต่ถูกยึดในเดือนธันวาคม 2551 เพราะความที่เป็นช้างป่า ทำให้กาญจนามีอาการเครียดอย่างมากเมื่อถูกล่ามโซ่ติดกับเสาปูนตลอดเวลา และมันยังไม่ชินกับอาหารที่คลีนิกให้อีกด้วย เพราะโดยปกติแล้วต้นสับปะรดไม่ใช่อาหารหลักของช้างป่า เราคิดว่ามันคงจะดีกว่ามาก ถ้าหากกาญจนาจะได้เดินอย่างอิสระ และฟื้นฟูสุขภาพก่อนที่จะปล่อยมันกลับคืนสู่ป่า แทนที่จะถูกล่ามโซ่เอาไว้เป็นเวลาเกือบ 18 เดือน ในเดือนมีนาคม 2553 กาญจนาคลอดลูกช้างตัวเมีย ซึ่งตายในเวลาไม่กี่นาทีหลังคลอด กาญจนาเองก็ตายตามไปในเวลาไม่นานหลังจากนั้น ด้วยร่างกายที่ไม่แข็งแรงจากแผลติดเชื้อเรื้อรังตั้งแต่ตอนถูกจับมา บวกกับความเศร้าจากการเสียลูกไป รวมทั้งความเครียดจากการถูกล่ามไว้ทุกวันและทั้งวัน “ตราบชั่วชีวิต” สุดท้ายแล้ว กาญจนาก็ตรอมใจตาย…จากโลกนี้ไปด้วยความทุกข์ทรมาน

Two confiscated baby elephants
Two confiscated baby elephants

ลูกช้างที่ถูกจับมาพร้อมกับกาญจนา ตัวที่เด็กที่สุด (ภาพด้านบน) ถูกส่งไปอยู่ที่ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ป่าเขาประทับช้าง ในสังกัดกรมอุทยานฯ ที่จ.ราชบุรี และถูกเสือในศูนย์กัดตาย เจ้าลูกช้างน้อยบังเอิญได้กลิ่นเสือ และยื่นงวงเข้าไปสำรวจในกรงเสือ…สุดท้ายมันก็ตายภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นด้วยพิษบาดแผลและเสียเลือดมากเกินไป ส่วนลูกช้างตัวที่โตกว่าซึ่งก็ถูกส่งไปอยู่ที่ศูนย์เดียวกัน ได้ตายลงเช่นกันโดยที่เราก็ยังไม่ทราบสาเหตุ

Two confiscated babies from Huahin and Kanchanaburi
Two confiscated babies from Huahin and Kanchanaburi

สำหรับพวกพ่อค้าและนายทุนที่ถูกจับได้พร้อมกับช้างทั้ง 3 ตัวในเรื่องนี้ ยังคงไม่ได้รับการลงโทษจากการลักลอบล่าสัตว์ ครอบครองสัตว์ป่าผิดกฎหมาย หรือทารุณช้างเพื่อการแสดง ทั้งหมดยังคงประกอบธุรกิจปางช้างท่องเที่ยวของตนเองต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น กรณีการสวมตั๋วรูปพรรณของกาญจนาก็ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง หรือมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ไขช่องโหว่นี้แต่อย่างใด

ได้โปรดจำเรื่องราวของกาญจนาเอาไว้ ถึงแม้มันจะไม่ได้มีชีวิตรอดไปถึงปางช้าง และไม่ต้องคอยให้นักท่องเที่ยวขี่หลังทุกๆวันก็ตาม แต่ช้างตัวอื่นๆอีกนับไม่ถ้วนมีชีวิตรอดไปจนถึงปางได้ หลังจากต้องประสบชะตากรรมเลวร้าย นับตั้งแต่การถูกจับด้วยวิธีทารุณ ถูกทรมานในพิธีตัดจิตวิญญาณป่า(ผาจ้าน) เป็นเวลาหลายวัน ก่อนที่จะถูกฝึกให้นักท่องเที่ยวขี่หลังเพื่อความบันเทิง คุณอาจจะคิดว่า เมื่อพวกช้างมาอยู่ที่ปางแล้วก็ไม่เป็นไร เพราะการทรมานในการฝึกมันก็สิ้นสุดลงแล้ว แต่โปรดระลึกเสมอว่า ช้างไม่เคยลืม พวกมันไม่เคยลืมว่ามันเคยเจ็บปวดอย่างไร ถูกทรมานมามากเพียงไหน และที่สำคัญที่สุด ช้างไม่เคยลืมว่ามันมาจากไหน พวกมันไม่เคยลืมโขลง ไม่เคยลืมบ้าน ไม่เคยลืมป่าของมัน!

เวลาที่คุณไปเที่ยวปางช้างต่างๆ รู้หรือไม่ว่าเงินที่คุณจ่ายไปเพื่อที่จะนั่งช้างนั้นไม่เคยไปถึงช้าง และไม่มีทางทำให้ช้างเร่ร่อนหมดไปจากถนน ตรงกันข้าม เงินที่คุณจ่ายกลับเป็นการสนับสนุนให้มีการล่าช้าง มีการค้าช้าง และมีการทารุณกรรมช้างที่ถูกล่ามาจากป่า…ออกมาจากบ้านที่แท้จริงของมัน

ร่วมมือกับเรา

มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าต้องการความช่วยเหลือจากคุณ เผยแพร่เรื่องราวและภารกิจปกป้องสัตว์ป่าของเราออกสู่ภายนอก
หากคุณอยากช่วยเหลือสามารถเยี่ยมชมและมามีส่วนร่วมกันกับเราได้

Wildlife Friends Foundation Thailand

Back To Top