เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับลิงแสมถูกไฟฟ้าช็อต และถูกสุนัขไล่กัด จนได้รับบาดเจ็บ หลังการตรวจอย่างละเอียด เราพบว่ามีบาดแผลเล็กน้อยบริเวณคิ้วและขาขวา
ปล่อยชะนีกลับคืนสู่ป่า
ปล่อยชะนีกลับคืนสู่ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 ชะนีมือขาวจำนวน 4 ตัวได้ถูกย้ายออกจากศูนย์อนุบาลสัตว์ป่า มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (WFFT) ไปยัง “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย” ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย
เช่นเดียวกับเขตุรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอันเป็นพื้นที่ป่าอันเขียวขจีและหนาทึบแห่งนี้ มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยได้สร้างโครงการอันเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาจากความร่วมมือจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและมหาวิทยาลัยมหิดล โดยยึดถือวัตถุประสงค์หลักคือการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยชะนีกลับคืนสู่ป่าให้ได้กลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติและติดตามความเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของพวกมันในขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ ภายในป่าอีกครั้ง
ชะนีสี่ตัวแรก
คูคูเป็นชะนีเพศผู้อายุประมาณ 9 ปีที่ถูกค้นพบที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ในขณะที่มันยังเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงชีพโดยการถ่ายภาพคู่กับนักท่องเที่ยวจนกระทั่งอายุได้ 3 ปี และท้ายที่สุดถูกขังกรงเดี่ยวอยู่หน้าบ้านของหญิงคนหนึ่ง เมื่อมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยได้รับรู้เรื่องราวชีวิตที่น่าสงสารของคูคู เราได้ขออนุญาตเจ้าของบ้านเพื่อนำคูคูไปเลี้ยงดูและอาศัยรวมกับชะนีตัวอื่น ๆ ที่ศูนย์อนุบาลสัตว์ป่า มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ซึ่งในที่สุดคูคูก็ได้รับการช่วยชีวิตออกมาในปีพ.ศ. 2546
คูคูเรียนรู้ที่จะอาศัยรวมกับชะนีตัวอื่น ๆ บนเกาะพร้อมกับแบงค์และดอลลาร์ซึ่งเป็นชะนีเพศผู้และเพศเมียที่ได้มาจากตลาดน้ำดำเนินสะดวกเช่นกัน ชะนีทั้งสองตัวนี้ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากตลาดน้ำแห่งนี้ในปีพ.ศ. 2547 หลังจากที่เจ้าของเริ่มพบอุปสรรคในการหาเลี้ยงชีพจากชะนีทั้งสอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งนำกำลังเข้าจับกุมคดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมล่าสัตว์ป่าถี่มากขึ้นกว่าปกติ ในที่สุดเจ้าของของมันจึงโทรศัพท์เข้ามาแจ้งให้ทางมูลนิธิฯ เข้าไปช่วยเหลือสัตว์ทั้งสองตัวออกมา
พลายเป็นชะนีเพศเมียที่มีอายุ 1 ปี ที่เกิดจากดอลลาร์และคูคูบนเกาะมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยแห่งที่ 8 ซึ่งเป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพชะนีของมูลนิธิฯ พลายไม่เคยคลุกคลีหรือได้รับการเลี้ยงดูจากมนุษย์มาก่อน จนกระทั่งวันที่มันถูกเคลื่อนย้ายไปยังศูนย์วิจัยและปล่อยชะนีคืนสู่ป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน
จากงานวิจัยพบว่าพื้นที่ป่าอันเขียวขจีของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเหมาะสำหรับใช้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยอันดีเยี่ยมของชะนีที่กำลังจะได้รับการปล่อยคืนสู่ป่า เนื่องจากมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ตามที่ชะนีป่าต้องการ
การย้ายสัตว์ไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน
หลังจากที่เหล่าชะนีถูกจับมายังมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยและทางมูลนิธิได้ทำการวางยาสลบแล้ว แต่ละตัวจะถูกนำตัวไปตรวจสภาพร่างกายอย่างเต็มรูปแบบและมีการนำตัวอย่างเลือดไปวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่าชะนีเหล่านี้อยู่ในสภาพที่เหมาะสำหรับการเดินทางหรือจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของชะนีตัวอื่นในพื้นที่ จากนั้นชะนีทั้งหมดจะถูกเคลื่อนย้ายโดยรถของมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยและนำส่งไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอนในช่วงข้ามคืน
กรงขังก่อนการปล่อยคืนสู่ป่า
บรรยากาศของจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นจะทำให้ชะนีทั้ง 4 ตัวรู้สึกแปลกถิ่นอย่างมาก ดังนั้น ชะนีเหล่านี้ต้องใช้เวลาอยู่ในกรงขังก่อนการปล่อยคืนสู่ป่าขนาดใหญ่ก่อนที่จะถูกปล่อยกลับคืนสู่ป่า ซึ่งวิธีนี้ไม่เพียงช่วยให้ชะนีได้ฟื้นฟูร่างกายจากการเดินทางไกลมายังภาคเหนือเท่านั้น แต่เพื่อให้พวกมันได้สร้างความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมใหม่อีกด้วย หลังจากที่ชะนีทั้งสี่ตัวได้ออกไปสำรวจกรงขังเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ปรากฏว่าพวกมันผล็อยหลับไปในทันที! และเนื่องจากร่างกายที่อ่อนล้ามาจากการเดินทางไกล ทำให้พวกมันนอนหลับเกือบตลอดทั้งวัน แต่เพียงใช้เวลาปรับตัวไม่นาน พวกมันก็สามารถออกสำรวจกรงขังกันอย่างเต็มที่และเริ่มปรับตัวเข้ากับถิ่นที่อยู่ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
การปล่อยคืนกลับสู่ป่าอย่างเต็มรูปแบบ
หลังจากที่ชะนีเหล่านี้ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้แล้ว พวกมันจะถูกปล่อยให้กลับเข้าไปใช้ชีวิตในป่าในที่สุด จากระยะเวลาหลายปีที่เจ้าหน้าที่ได้ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจในการฟื้นฟูชะนีเหล่านี้ ทำให้พวกมันสามารถกลับไปใช้ชีวิตในป่าได้อย่างอิสระอีกครั้ง หลังจากที่นำชะนีไปปล่อยกลับคืนสู่ป่าแล้ว เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลจะคอยติดตามผลความเคลื่อนไหวของชะนีเหล่านี้อยู่ห่าง ๆ เพื่อศึกษาข้อมูลและความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและพฤติกรรมของพวกมันในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ โดยเวบไซต์นี้จะยึดถือตามข้อปฏิบัติของ IUCN ด้านการปล่อยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 มีชะนีอีก 3 ตัวที่อาศัยอยู่บนเกาะของมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยที่พร้อมสำหรับการเคลื่อนย้ายไปยังศูนย์วิจัยและปล่อยชะนีคืนสู่ป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชะนีเหล่านี้ได้รับการฟื้นฟูเป็นเวลาหลายปีและเข้าสู่ช่วงที่เหมาะแก่การปล่อยกลับคืนสู่ป่าอีกครั้ง แต่เนื่องด้วยศูนย์วิจัยฯ มีกรงขังก่อนการปล่อยคืนสู่ป่าเพียง 2 กรง จึงต้องมีการสร้างกรงขังใหม่เพิ่มอีก 2 กรงก่อนที่จะสามารถเคลื่อนย้ายชะนีตัวอื่น ๆ มายังศูนย์วิจัยฯ ได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ก่อสร้างของมูลนิธิฯ รวมถึงน้อยและอ้อมจึงได้เดินทางมายังสถานที่เพื่อเริ่มทำการสร้างกรงขังก่อนการปล่อยคืนสู่ป่าเพิ่มอีก 2 กรง
งานก่อสร้างได้ดำเนินไปท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ แต่หลังจาก 6 สัปดาห์ การก่อสร้างกรงใหม่ทั้ง 2 กรงก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในช่วงเดือนตุลาคมเพื่อต้อนรับครอบครัวชะนีมือขาว 2 ครอบครัว นอกจากนี้ยังได้สร้างกรงขนาดเล็กสำหรับลูกชะนีกำพร้าที่อยู่ในความดูแลของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่กำลังศึกษางานโครงการคืนชะนีกลับสู่ป่า
หลังจากที่มูลนิธิฯ ได้ก่อสร้างกรงใหม่ทั้ง 2 กรงจนสำเร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ได้มีชะนีอีก 3 ตัวคือผ้าไหม (เพศผู้) ทะเล (เพศเมีย) และลูกชะนีเพศผู้อายุ 2 ปีเคลื่อนย้ายมายังศูนย์วิจัยและปล่อยชะนีคืนสู่ป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลแห่งนี้
อย่างไรก็ดีก่อนทำการเคลื่อนย้ายชะนี เจ้าหน้าที่จะต้องทำการจับชะนีจากเกาะที่ตั้งอยู่บนทะเลสาบที่ชะนีเหล่านี้อาศัยอยู่แบบกึ่งเลี้ยงกึ่งธรรมชาติมานานหลายปี โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จะเดินทางไปยังเกาะแห่งนี้พร้อมปืนลูกดอกที่ใช้ในการวางยาสลบชะนีโตเต็มวัยและเน็ตที่ใช้สำหรับจับลูกชะนี ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถจับและนำชะนีทั้ง 3 ตัวเข้ามาขังกรงเอาไว้ได้
อย่างไรก็ดี ชะนีทุกตัวจะต้องถูกนำไปตรวจสุขภาพและมีการนำตัวอย่างเลือดและผิวหนังของชะนีที่โตเต็มวัยไปตรวจวิเคราะห์ ก่อนที่ชะนีทั้งหมดจะเดินทางไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ โดยตัวอย่างเลือดและผิวหนังนี้จะถูกส่งไปเพื่อวิเคราะห์และตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจได้ว่าชะนีทุกตัวมีสุขภาพดีและปลอดโรค นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบอีเอ็นเอครั้งสุดท้ายเพื่อสร้างความมั่นใจว่ามูลนิธิฯ จะไม่ปล่อยชะนีที่มีปัญหาพันธุกรรมไม่เหมาะสมเข้าไปในพื้นที่ โดยโครงการคืนชะนีสู่ป่านี้ดำเนินไปตามข้อปฏิบัติของ IUCN อย่างเต็มรูปแบบ
หลังจากตรวจสุขภาพแล้ว ทั้งเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ และชะนีจึงเริ่มออกเดินทางขึ้นเหนือ มุ่งหน้าไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เมื่อไปถึงยังศูนย์วิจัยฯ ปรากฏว่าชะนีทุกตัวสามารถปรับตัวในกรงขังก่อนการปล่อยคืนสู่ป่าที่สร้างขึ้นใหม่นี้ได้เป็นอย่างดีและสามารถรับประทานอาหาร ห้อยโหน และส่งเสียงร้องได้ตามปกติ!
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชะนีเหล่านี้จะถูกปล่อยกลับคืนสู่ป่าได้ในวันปีใหม่และสามารถใช้ชีวิตตามธรรมชาติซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ที่แท้จริงของมันได้ในที่สุด