Skip to content
032-706906 info@wfft.org

“ช้าง-เสือโคร่ง-หมี-นก”ล้น อุทยานครวญแบกภาระอื้อ


“ช้าง-เสือโคร่ง-หมี-นก”ล้น อุทยานครวญแบกภาระอื้อ

MATICHON NEWSPAPER
Jun 1st, 2012

กรมอุทยานแห่งชาติฯกุมขมับงบดูแล”สัตว์ของกลาง”ถูกตรวจยึด เริ่มบานปลาย ทั้งค่าอาหาร-ฟื้นฟูสุขภาพ แถมที่พักเลี้ยงไม่เพียงพอ ซ้ำร้ายมีประชาชนนำสัตว์ที่ห้ามเลี้ยงมาทิ้งให้อีก

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯได้เรียกประชุมบุคลากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสัตว์ป่าของกลาง เช่น สัตวแพทย์ สถาบันคชบาล เพื่อหารือเรื่องการดูแลสัตว์ป่าของกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งขณะนี้มีสัตว์ของกลางที่ต้องดูแลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ซึ่งเพิ่งจับยึดมาจากปางช้างในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 27 เชือก

“ล่าสุดสัตวแพทย์ของสถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง ที่ดูแลสุขภาพช้างเหล่านี้ รายงานว่า ในภาพรวมทั่วไปทุกตัวมีสุขภาพดีขึ้นมากกว่าตอนที่เข้ามาอยู่ในสถาบันคชบาลใหม่ๆ โดยเฉพาะบางเชือกที่ป่วยเป็นโรคบาดทะยัก เวลานี้อาการดีขึ้นมาก คาดว่าอีกไม่นานก็จะหายเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ถือว่าการดูแลสัตว์ของกลางเหล่านี้เป็นภารกิจที่ค่อนข้างหนักของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เพราะนอกจากจะเลี้ยงดูแล้ว ยังจะต้องดูแลสุขภาพสัตว์ป่าของกลางให้ดีด้วย” นายธีรภัทรกล่าว

ด้านนายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า เวลานี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ดูแลสัตว์ของกลางทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่จำนวนมาก เช่น เสือโคร่งเบงกอล 139 ตัว เสือดาว เสือดำ เสือลายเมฆอีก 30 ตัว หมี ส่วนกลุ่มหมีควาย หมีขอ หมีหมา มีมากถึง 300 ตัว ช้างอีก 27 เชือก ยังไม่รวมที่อาจจะต้องไปยึดช้างตามปางต่างๆ ที่ไม่มีหลักฐานตั๋วรูปพรรณอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ขนาดกลางและสัตว์เล็ก เช่น ตัวเงินตัวทอง 1,100 ตัว งูสิง 3,000 ตัว นิ่มหรือลิ่น 2,000 ตัว นกชนิดต่างๆ ทั้งนกเล็กและนกใหญ่ เช่น เหยี่ยว ประมาณ 1,000 ตัว ลิง และชะนี ประมาณ 500 ตัว

“สัตว์พวกนี้เมื่อแรกจับยึดมา เจ้าหน้าที่ก็ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงก่อน เพราะสภาพก่อนถูกจับยึดมาโทรมมาก เนื่องจากอยู่ในที่แคบ ขาดน้ำ ขาดอาหารจนตายไปก็จำนวนมาก เมื่อฟื้นฟูสภาพแล้ว ก็จะยึดเป็นของกลางเพื่อดำเนินคดี ในการนี้ก็จะให้อยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าพนักงานว่า สัตว์ชนิดใดควรจะปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติ และสัตว์ชนิดใดจำเป็นต้องเลี้ยงดูต่อไป แต่บางชนิด เช่น เสือโคร่งเบงกอล ต้องเลี้ยงดูตลอดชีวิต เพราะปล่อยเข้าป่าไปก็หากินเองไม่เป็น จะตายเสียเปล่าๆ และยังเป็นอันตรายต่อสัตว์อื่นด้วย” นายดำรงค์กล่าว และว่า ส่วนสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น งูสิง ตัวเงินตัวทอง ที่เจ้าหน้าที่จับมาได้ ถือว่ามีจำนวนมาก และเป็นภาระที่เจ้าหน้าที่จะต้องดูแลหาอาหารให้กิน เช่น งูสิงต้องหาลูกหนูให้กิน ตัวเงินตัวทองก็ต้องหาโครงไก่ เนื้อไก่ให้กิน เมื่อเป็นภาระมากก็ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไปบ้าง ล่าสุดงูสิงกว่า 2,000 ตัว ที่นำไปกักเก็บไว้ที่ห้วยขาแข้งและอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ยังไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ เจ้าหน้าที่ต้องหาซื้อลูกกบ ลูกเขียดให้กิน ขณะนี้กบเขียดราคากิโลกรัมละ 80 บาท แต่โชคดีที่งูไม่ได้กินอาหารทุกวัน

นายดำรงค์กล่าวอีกว่า สำหรับค่าอาหารสัตว์ของกลางที่กรมอุทยานแห่งชาติฯต้องดูแลอยู่ขณะนี้ สำหรับเสือเฉลี่ยประมาณ 8,800 บาทต่อตัวต่อเดือน หมี 1,200 บาทต่อตัวต่อเดือน นกใหญ่ 300-500 บาทต่อตัวต่อเดือน นกเล็ก 150-200 บาทต่อตัวต่อเดือน ลิง ชะนี 600 บาทต่อตัวต่อเดือน ขณะที่ช้างซึ่งมีค่าอาหาร เกลือแร่ และคนเลี้ยง 22,000 บาทต่อตัวต่อเดือน

“ขณะนี้เรามีสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่คอยดูแลสัตว์พวกนี้อยู่ทั้งหมด 24 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งมีคลินิกสัตว์ป่า ซึ่งตั้งอยู่ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็มีประชาชนเอาสัตว์ที่เลี้ยงดูไม่ได้มาให้สัตวแพทย์ที่ประจำอยู่ดูแลทุกวัน ทั้งลิง ชะมด อีเห็น และนกชนิดต่างๆ เลี้ยงดูกันไม่ไหว แต่ทำอย่างไรได้ เมื่อจับมาแล้วก็ต้องเลี้ยงดูให้ดีที่สุด ตราบใดที่ยังมีการลักลอบจับ ลักลอบขาย ลักลอบซื้อ เราก็ต้องไปจับยึดมาอีกเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้งบประมาณก็ยังพอมี แต่ในอนาคตไม่แน่ใจ ถ้าไม่พอเราก็ใช้งบฉุกเฉิน หรือของบเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นปัญหาในอนาคตแน่นอน” นายดำรงค์กล่าว (กรอบตจว.)

ร่วมมือกับเรา

มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าต้องการความช่วยเหลือจากคุณ เผยแพร่เรื่องราวและภารกิจปกป้องสัตว์ป่าของเราออกสู่ภายนอก
หากคุณอยากช่วยเหลือสามารถเยี่ยมชมและมามีส่วนร่วมกันกับเราได้

Wildlife Friends Foundation Thailand

Back To Top