Skip to content

การเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วของฟาร์มเพาะพันธุ์สิงโตภายในประเทศไทย กระตุ้นให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน

รายงานฉบับใหม่เปิดเผยว่า จำนวนสิงโตเลี้ยงในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วงหกปีที่ผ่านมา โดยพบเห็นตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น บ้านพักส่วนตัว, กิจการต่างๆ (รวมถึงคาเฟ่สิงโต), ฟาร์มเพาะพันธุ์ และสวนสัตว์ สร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ สวัสดิภาพสัตว์ และความปลอดภัยของสาธารณะ

มีงานวิจัยฉบับใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Discover Conservation เปิดเผยการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของจำนวนสิงโตในกรงเลี้ยงในประเทศไทย โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 131 ตัวในปี 2561 เป็น 444 ตัวในปี 2567 มีเพิ่มขึ้นถึง 239% นักวิจัยจากสหราชอาณาจักรและประเทศไทยเตือนว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ ที่ขับเคลื่อนโดยความต้องการสัตว์เลี้ยงแปลกใหม่ การใช้สิงโตเพื่อความบันเทิง และการค้าชิ้นส่วนสิงโต ทำให้มีช่องโหว่ด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของไทย จนอาจนำมาสู่อันตรายต่อผู้คน สัตว์อื่นๆ และสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ

จากการวิจัยซึ่งติดตามดูใบอนุญาตการค้าและการมีสิงโตไว้ในครอบครอง ตามสวนสัตว์ที่มีการจดทะเบียน หรือ ไม่มีการจดทะเบียน, ฟาร์มเพาะพันธุ์, และบ้านพัก/ธุรกิจส่วนตัว 

ในช่วงเวลา 7 ปี ได้แสดงให้เห็นภาพอุตสาหกรรมสิงโตในประเทศไทยที่กำลังขยายตัวว่ามีลักษณะดังต่อไปนี้
  • จำนวนบ้านส่วนตัวที่เลี้ยงสิงโตเพิ่มขึ้นถึง 1300% จากเดิมที่พบเพียงแค่ 2 หลังในปี 2561 และค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 28 หลังในปี 2567
  • มีการบันทึกสิงโตในกรงรวมทั้งสิ้น 848 ตัว และลูกผสมระหว่างสิงโตกับเสืออีก 32 ตัว
  • สิงโตจำนวนมากถูกหมุนเวียนผลัดกันใช้ผ่านเครือข่ายสถานที่ต่าง ๆ มีทั้งการใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบภาพถ่ายเมื่อยังเป็นลูกสิงโต ก่อนจะนำไปใช้เพื่อการผสมพันธุ์ ในบางครั้งยังถูกเช่าออกไปแสดงในงานรื่นเริงส่วนตัว หรือขายคืนฟาร์มในโครงการ “ซื้อคืน” เมื่อตัวโตเกินไปหรือเริ่มมีความอันตรายต่อสาธารณะ
  • สิงโตเผือกเพศเมียที่ถูกใช้ในการเพาะพันธุ์เพื่อผลิตลูกสิงโต สามารถสร้างรายได้ถึง 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตลอดชีวิตของสิงโต
  • สิงโตเผือกคิดเป็น 45% ของลูกสิงโตที่เกิดมาทั้งหมด โดยถูกเพาะพันธุ์เนื่องจากมีมูลค่าทางการตลาดสูง
  • ลูกผสมระหว่างสิงโต-เสือ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าในประเทศไทย แม้จะมีขนาดใหญ่และเป็นอันตราย แต่การไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายชัดเจน ทำให้เกิดช่องโหว่สำหรับการผสมพันธุ์เพื่อแสวงหาประโยชน์

“สิงโตเลี้ยงในประเทศไทยจริง ๆ แล้วอาจมีจำนวนมากกว่าที่คาดไว้” ศ.วินเซนต์ ไนจ์มัน (Vincent Nijman) ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าสัตว์ป่าระดับโลกจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด บรูคส์ ในสหราชอาณาจักร กล่าว “มีสิงโตถึง 346 ตัวที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ายังมีชีวิตอยู่ หนึ่งปีหลังจากที่ถูกพบครั้งแรก และไม่สามารถระบุได้ว่าสัตว์เหล่านี้หายไปจริง ๆ เพราะถูกเคลื่อนย้ายโดยไม่มีเอกสาร หรือเสียชีวิตไปแล้ว” การที่เราไม่สามารถติดตามชีวิตของสิงโตแต่ละตัวได้ แสดงให้เห็นถึงปัญหาการควบคุมฐานข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ภายในประเทศ

“ข้อมูลที่ถูกค้นพบเหล่านี้ แสดงถึงวิกฤตด้านสวัสดิภาพสัตว์ ความปลอดภัยของสาธารณะ และจริยธรรมที่มีต่อสัตว์” นายเอ็ดวิน วีค (Edwin Wiek) ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยและผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า กล่าว “การขาดการกำกับดูแล ทำสัตว์ป่าให้เป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ และมีสิงโตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผิดธรรมชาติ อาจทำให้ทั้งสัตว์และประชาชนตกอยู่ในอันตรายอย่างร้ายแรง ดังนั้น กฎหมายของประเทศไทยต้องทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน”

งานวิจัยชี้ว่า ข้อกำหนดในการขอใบอนุญาตครอบครองสิงโตในไทยยังคงอ่อนแอมาก ลูกผสมสิงโตก็ยังไม่มีการควบคุม และยังสามารถขายลูกสิงโตก่อนจะจดทะเบียนอย่างถูกต้องได้

ผู้เขียนเสนอแนะให้มีการแก้ไขกฎหมาย โดยมีข้อเสนอสำคัญถึงรัฐบาลไทย ได้แก่
  • ห้ามครอบครองสิงโตและลูกผสมสิงโตในบ้านส่วนตัว
  • ห้ามมีการเพาะพันธุ์สิงโตโดยไม่มีใบอนุญาต
  • งดกิจกรรมที่ให้ผู้คนสัมผัสหรือถ่ายรูปกับสิงโต
  • จัดทำฐานข้อมูลที่โปร่งใสเกี่ยวกับสัตว์ตระกูลแมวในกรงเลี้ยงทั้งหมด
  • ควบคุมและบังคับใช้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการขนย้ายอย่างเข้มงวด
  • กำหนดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ตามแนวทางสากล
  • กำหนดจำนวนสูงสุดของสัตว์ที่แต่ละสถานที่สามารถเลี้ยงได้

ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ จุดประสงค์ของการอนุรักษ์ และความปลอดภัยของประชาชน หากไม่มีการปฏิรูป ประเทศไทยเสี่ยงที่จะกลายเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ของการเพาะพันธุ์และค้าสัตว์ป่าอย่างไร้ซึ่งจริยธรรม อาจนำพาไปสู่การส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศและทำให้สัตว์ทุกข์ทรมาน เพียงเพื่อความบันเทิงของมนุษย์

ร่วมมือกับเรา

มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าต้องการความช่วยเหลือจากคุณ เผยแพร่เรื่องราวและภารกิจปกป้องสัตว์ป่าของเราออกสู่ภายนอก
หากคุณอยากช่วยเหลือสามารถเยี่ยมชมและมามีส่วนร่วมกันกับเราได้

Wildlife Friends Foundation Thailand

Back To Top