เกิดเหตุไฟไหม้ เวลา 4:30 น. วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ตลาดนัดจตุจักรโซนสัตว์เลี้ยงชื่อดังในกรุงเทพฯ และคาดว่ายังเป็นสถานที่ที่มักมีการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอีกด้วย ร้านสัตว์เลี้ยงเสียหายไป 118 ร้าน ทำให้สัตว์ตายไปจำนวนมาก ทั้งสุนัข แมว รวมถึงสัตว์ป่า และสัตว์ต่างถิ่นอย่าง หงส์ นกกระตั้ว และลิง
การค้าอุรังอุตังในไทยยังลอยนวล
การค้าอุรังอุตังในไทยยังลอยนวล
(Edwin Wiek; 10 เมษายน 2555)
ผมได้รับการแจ้งว่าอุรังอุตัง 11 ตัวที่ถูกพบว่าถูกครอบครองอย่างผิดกฎหมายในสวนสัตว์ภูเก็ตไม่ได้ถูกยึดไปหลังจากการบุกตรวจสอบสวนสัตว์ที่ได้รับการขึ้นทะบียน อุรังอุตังเหล่านั้นกลับถูกขนส่งไปยังกรมอุทยานในรูปของ “การบริจาค” แทน
WFFT ได้ร้องเรียนเรื่องการครอบครองอุรังอุตัง 11 ตัวอย่างผิดกฎหมายที่ฟาร์มจระเข้และสวนเสือใน จ. ภูเก็ต ตอนแรกทีมตรวจสอบของเรามีปัญหาในการหาพิกัดว่าอุรังอุตังเหล่านั้นอยู่ที่ไหนหลังจากได้รับการร้องเรียนมาจากนักท่องเที่ยวว่าพบลูกอุรังอุตัง 4 ตัวในสวนสัตว์ใน จ. ภูเก็ต แต่ในตอนแรกทีมงานคนหนึ่งของเราพบเพียงอุรังอุตังวัยรุ่นอาศัยอยู่รอบ ๆ สวนสัตว์เท่านั้น หลังจากนั้น เราได้เข้าไปที่สวนสัตว์และในขณะที่กำลังสอบถามคนงานสวนสัตว์คนหนึ่งเราก็พบว่ามีอุรังอุตังทั้งหมดอยู่ 11 ตัวในสวนสัตว์และเจ้าของสวนสัตว์นำเข้าพวกมันมาจากอินโดนีเซีย พวกเราได้กลับเข้าไปยังสวนสัตว์แห่งนั้นอีกสองสามครั้งเพื่อเก็บภาพของอุรังอุตังทั้งหมด (ดูภาพประกอบ)
เราได้ส่งเอกสารร้องเรียนอย่างเป็นทางการไปยังกรมอุทยานเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2551 แต่จนกระทั่งสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมปี 2552 เราก็ยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวใด ๆ ของกรมอุทยานเลย เราจึงตัดสินใจส่งจดหมายไปอีกครั้งและส่งอีกฉบับให้กับ ASEAN-WEN หลังจากนั้น ผ่านไปอีกสองสัปดาห์ ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ จากกรมอุทยาน เราจึงโทรไปยังกรมอุทยานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายในการครองครองสัตว์ป่า ท้ายที่สุด เราได้รับการแจ้งมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ว่ามีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสวนสัตว์แต่ไม่มีการพบอุรังอุตัง เจ้าหน้าที่กรมอุทยานเขตห้าบอกเราว่าไม่เคยมีอุรังอุตังอยู่ในบริเวณนั้นมาก่อนเลย ทั้ง ๆ ที่เราได้ส่งรูปถ่ายและวีดีโอแจ้งสถานที่ที่มีอุรังอุตังไปกับเอกสารร้องเรียนแล้วแท้ ๆ ! ค่อนข้างชัดเจนว่า ทางสวนสัตว์ไหวตัวทัน รู้วันที่จะมีการบุกตรวจค้นจึงมีเวลาขนย้ายสัตว์ออกไปก่อน กรมอุทยานส่งจดหมายแจ้งมายัง WFFT ว่าโชคร้ายที่ไม่มีการพบอุรังอุตัง ดังนั้นคดีจึงถูกปิดลง อย่างไรก็ตาม รูปถ่ายและวีดีโอของเราเป็นหลักฐานยืนยันความผิดของสวนสัตว์ได้เป็นอย่างดี ! เราจึงขอให้มีการตรวจสอบอย่างเป็นทางการอีกครั้งและให้มีการเคลื่อนไหวอย่างเร่งด่วนก่อนที่สัตว์จะถูกส่งไปที่ไกล ๆ หลังจากการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่าง WFFT กับกรมอุทยานเป็นเวลาสองสัปดาห์ ทางเราจึงได้รับแจ้งว่ามีการพบอุรังอุตังและเข้ายึดได้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม อุรังอุตังทั้ง 11 ตัวถูกส่งไปยังสถานีเพาะพันธุ์สัตว์ของกรมอุทยานและจะถูกส่งกลับไปยังอินโดนีเซียบ้านเกิดของพวกมัน
ผมได้ขอสำเนาการฟ้องร้องเจ้าของสวนสัตว์ในภูเก็ตจากเจ้าหน้าที่อยู่หลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่กลับกล่าวว่าเป็นเรื่องของตำรวจท้องถิ่นของภูเก็ต (ไม่ใช่ของกรมอุทยาน) ผ่านมาสามปีกว่า ผมยังคงเชื่อว่าเจ้าของสวนสัตว์ควรถูกฟ้องร้องในข้อหาครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองโดยผิดกฎหมายและการละเมิดสนธิสัญญา CITES อย่างไรก็ตาม ผมได้รับการแจ้งเมื่อสองสามวันก่อนว่าสำนวนคดีไม่ได้ระบุว่าอุรังอุตังทั้ง 11 ตัวถูกพบที่สวนสัตว์ แต่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานเขตห้าแจ้งว่าพวกมันถูกพบข้างทางด่วนระหว่าง จ. ภูเก็ตและพังงาโดยไม่พบผู้ครอบครอง อุรังอุตังจึงได้ถูก “บริจาค” ให้กับกรมอุทยาน ทั้ง ๆ ที่รูปพรรณของอุรังอุตังที่อยู่ในสวนสัตว์จากการร้องเรียนคราวก่อนตรงกับพวกที่ถูกพบขณะขนย้ายทุกประการ
—ปิดคดี—
กรณีการครอบครองอุรังอุตังอย่างผิดกฎหมายคล้าย ๆ กันนี้พบที่ จ. สมุทรปราการในปี 2547 ซึ่งพบ 8 ตัวและที่ Safari park ในกรุงเทพปี 2546 ซึ่งพบอุรังอุตังถึง 78 ตัว (115ตัว) ก็ยังไม่มีการดำเนินคดี ใด ๆ ทั้งสิ้น !
ไม่มีใครต้องขึ้นศาล ไม่มีการยื่นเอกสารฟ้องร้อง พวกเรายังคงรอคอยการฟ้องร้องและการยึดอุรังอุตังสองตัวที่พบที่บ้านผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าใน จ. สระบุรีด้วยความหวังอันเลือนลาง
การเข้าตรวจสอบการค้าสัตว์ป่าและการร้องเรียนผ่านเจ้าหน้าที่จะมีประโยชน์อะไร?
ในเมื่อเห็นได้ชัดแล้วว่าการค้าสัตว์อย่างผิดกฎหมายและการครอบครองอุรังอุตังซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองภายใต้สนธิสัญญา CITES …ยังคงลอยนวลได้ในประเทศไทย…